top of page
ค้นหา

22 วิธีป้องกันอาการแพ้ทอง

  • รูปภาพนักเขียน: Tida&Mom
    Tida&Mom
  • 30 พ.ค. 2561
  • ยาว 1 นาที

เป็นเรื่องที่น่าแปลก โดยปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของอาการแพ้ท้องได้อย่างชัดเจน แต่วันนี้เรามี 22 วิธีป้องกันอาการแพ้ทองที่พอจะเป็นไกด์ไลน์ ให้คุณแม่ ลองปฎิบัติตัวตาม เพื่อจะได้ ป้องกันการแพ้ท้องได้ในระดับหนึ่ง อาการแพ้ท้องจะแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละคน แต่หากรับรู้เอาไว้ว่าโดยส่วนใหญ่อาการแบบใดจะเกิดขึ้นได้ง่ายในเวลาใด จะช่วยนำไปสู่วิธีจัดการได้

วิธีป้องกันอาการแพ้ท้อง


1. คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก หาเวลางีบบ้างระหว่างวัน ทำจิตใจให้สงบและเข้มแข็ง ไม่เครียด หาเวลาผ่อนคลาย ด้วยการนอนนิ่ง ๆ เปิดรับอากาศบริสุทธิ์อย่างสม่ำเสมอ ฟังเพลงสบาย ๆ ฯลฯ และไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ เพราะสภาพจิตใจมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะทำให้อาการแพ้ท้องรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง (การที่สามีคอยเอาอกเอาใจและคอยดูแลภรรยาเป็นอย่างดีจะช่วยให้อาการของคุณแม่ดีขึ้นเป็นลำดับ)


2. ไม่ควรฝืนทำงานหรือออกกำลังกายมากเกินไป เพราะในช่วงนี้สภาพร่างกายของคุณแม่และสภาพของลูกยังไม่มั่นคงดีพอ


3. อย่างดอาหาร เมื่อรู้ว่าอยากรับประทานอาหารก็ให้รับประทานได้เลย คุณแม่จึงควรมีขนมขบเคี้ยวที่มีโปรตีนสูงไว้ใกล้ ๆ ตัว เพื่อหยิบทานได้ง่าย เช่น ขนมจำพวกถั่ว ขนมที่ทำจากถั่วเหลือง เพราะเวลาท้องว่างจะทำให้คุณแม่อาเจียนได้ง่ายกว่าตอนที่มีอาหารอยู่ในท้อง


4. แม้ว่าบางครั้งคุณแม่จะไม่รู้สึกหิว แต่ก็ควรจะพยายามบังคับตัวเองให้รับประทานอาหารให้ได้ (ครั้งละน้อย ๆ ก็ยังดี)


5. หลีกเลี่ยงอาหารมันหรือของทอด อาหารรสจัดหรือมีเครื่องเทศมาก อาหารร้อนจัด ผลไม้ดอง ฯลฯ เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นหน้าอกได้ง่าย และควรหันมารับประทานผักและผลไม้สดให้มากขึ้น


6. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงจะรับประทานได้ง่ายกว่า เช่น ข้าวสวย ธัญพืช ขนมปังแห้ง ๆ กรอบ ๆ


7. อาหารที่มีโปรตีนสูงบางชนิดอาจทำให้คุณแม่ไม่สบายท้องได้ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว คุณแม่อาจเปลี่ยนมารับประทานไข่ต้มสุก ๆ อาหารทะเล หรือเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เพื่อทดแทนโปรตีนน่าจะดีกว่า


8. เมื่อนึกอยากรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยว ให้คุณแม่พยายามเลือกทานยำ สลัด หรือผลไม้สดที่มีรสเปรี้ยว แทนการเลือกทานแต่ของหมักดอง ก็จะมีประโยชน์กับคุณแม่มากกว่า


9. เครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิเย็นจัดหรือร้อนจัด อาจทำให้คุณแม่ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ลองหันมารับประทานผักและผลไม้สด ๆ แทนจะดีกว่าครับ เช่น ผักกาดหอมที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่มาก ผลไม้แช่สด ๆ แช่เย็น เช่น กล้วย แอปเปิ้ล สับปะรด ฝรั่ง พุทรา


10. คุณแม่ควรดื่มน้ำก่อนและหลังรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที และไม่ควรดื่มน้ำร่วมกับการรับประทานอาหารหรือหลังอาหารในทันที


11. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน หรือจิบน้ำบ่อย ๆ ในระหว่างวัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำและทำให้ปัสสาวะเข้มข้น (ฝานขิงอ่อนเป็นแผ่นบาง ๆ แช่ในน้ำร้อน แล้วนำมาจิบบ่อย ๆ จะช่วยลดอาการแพ้ท้องคลื่นไส้ อาเจียนได้ดี)


12. บางครั้งคุณแม่อาจอยากรับประทานอาหารแปลก ๆ ที่แปลกมากเกินไปกว่าที่คนแพ้ท้องทั่วไปรับประทานกัน หรือสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น อยากรับประทานดิน คุณแม่จะต้องพยายามหักห้ามใจและหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้น ๆ


13. ไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังอาหาร แต่ให้รอสักพักแล้วจึงค่อยแปรง เพราะการแปรงฟันอาจทำให้คุณแม่อยากอาเจียนหรือทนรสชาติยาสีฟันไม่ไหว แต่จะลองหันมาใช้ยาบ้วนปากดูบ้างก็ได้ครับ เผื่อจะช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้


14. ไม่ควรนอนทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ


15. คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท เพราะจะทำให้คุณแม่เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่าย ถ้าคุณแม่ต้องออกไปทานข้าวนอกบ้านก็พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดดหรือพกร่ม พัด ยาดม และลูกอมติดตัวไว้ด้วยเสมอ


16. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่คนแออัด หากคุณแม่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีคนอยู่อย่างแออัด แนะนำให้พกผ้าปิดปากติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อลดการได้กลิ่นต่าง ๆ ให้น้อยลง


17. ควรลดสัมภาระในกระเป๋าถือลงบ้างหากต้องออกไปข้างนอก ให้เหลือไว้แต่ของใช้จำเป็น เพราะการแบกของหรือยกของหนักเกินไป อาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยและไม่สบายตัวได้


18. การสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ง่ายขึ้น ดังนั้น คุณแม่ควรเลือกสวมใส่เสื้อที่สบายตัว เนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี


19. ควรหลีกหนีให้ไกลจากกลิ่นที่ทำให้คุณแม่รู้สึกคลื่นไส้หรือพะอืดพะอม หากจำเป็นต้องปรุงอาหารก็ควรเปิดหน้าต่าง เปิดประตู พร้อมกับเปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศ (ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรให้ผู้อื่นเป็นผู้ปรุงอาหารให้) และเลือกพักผ่อนร่างกายอยู่ที่บ้านด้วยการเปิดประตูหน้าต่างออกเพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกมากขึ้น


20. มีงานวิจัยชี้ว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ทานอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสีที่พบได้มากในอาหารประเภทนม เนื้อสัตว์ ตับ ไข่ ปลา สัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ถั่ว ข้าวโพด หรือในรูปของอาหารเสริม จะมีแนวโน้มที่จะแพ้ท้องได้น้อยกว่า


21. วิตามินเสริมที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารได้ หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องรุนแรงมาก่อนก็ควรจะแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย คุณหมออาจจะสั่งจ่ายวิตามินบีรวมหรือวิตามินบี 6 มาให้คุณแม่รับประทาน เพื่อช่วยให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น


22. หากเป็นไปได้คุณแม่ควรจดบันทึกประจำวัน ว่าเวลาใดบ้างที่มักมีอาการแพ้ท้อง หากรู้ว่าอาการแพ้ท้องมักเกิดขึ้นเวลาใด คุณแม่จะได้ระวังตัวหรือวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ในแต่ละวัน



 
 
 

Comentários


ติดตามอ่านเรื่องราวดีๆและเป็นสมาชิกของเราเพื่อลุ้นรับของขวัญทุกเดือน

จะไม่พลาดอัพเดตอีกเลย

© Copyright 2018 Tida&Mom®​

 เว็บไซต์เกี่ยวกับคุณแม่และคุณลูก 

ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ การตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูก

พัฒนาการเด็ก ความสวยความงาม

Advertisement : wiparat.ponsab@gmail.com

bottom of page